ลุ่มน้ำสงครามมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเสมือนมดลูกแห่งแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแม่น้ำที่มีความยาว 420 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณปากน้ำไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
ขณะที่ตัวพื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีมากกว่า 6,400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4 ล้านไร่เศษ ก็เต็มไปด้วยระบบนิเวศย่อยต่างๆ มากมาย เช่น ลำห้วย หนองน้ำ กุด แก้ง ดง ดอน และโดยเฉพาะป่าไผ่ ที่คนในท้องถิ่นนิยมเรียกว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม (Flood Forest) และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การที่แม่น้ำสงครามเป็นเพียงแม่น้ำสายเดียวที่ยังคงไหลได้อย่างอิสระ โดยไม่มีประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำ
เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำโขงจะหนุนสูงไหลย้อนเข้าสู่แม่น้ำสงคราม กลายเป็นผืนทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายกับโตนเลสาปในกัมพูชา พร้อมๆ กับการไหลเข้ามาของน้ำโขง ก็ได้นำปลาน้ำจืดน้อยใหญ่นับร้อยชนิดให้เข้ามาอาศัยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์วางไข่ โดยเฉพาะในบริเวณป่าบุ่ง ป่าทาม ลึกเข้าไปจากปากน้ำถึงกว่า 200 กิโลเมตร และเมื่อถึงฤดูน้ำลด ไข่ปลาเหล่านั้นก็ได้เติบโตและอาศัยอยู่ในแม่น้ำสงคราม นับเป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสงครามตามสมดุลธรรมชาติ ผู้คนในลุ่มน้ำกว่า 1.4 ล้านคนจึงได้อาศัยพึ่งพิงเป็นฐานทรัพยากรของชุมชน จนมีคำกล่าวจากคนเฒ่าคนแก่ว่า “ถ้าอยากกินปลาในน้ำสงครามก็ให้ต้มน้ำรอไว้เลย เดินลงไปปะเดี๋ยวเดียวก็ได้ปลามากิน”
ในตอนหนึ่งของงานเสวนา Mekong Academic Consortium 2024 ที่มหาวิทยาลัยนครพนม ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบราชธานี กล่าวว่า “ความหลากหลายของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองแค่แม่น้ำแอมะซอน แต่ละปีบางรายงานวิชาการบอกว่าปลาแม่น้ำโขงถูกจับได้ 1.2 ล้านตันต่อปี บางรายงานวิชาการบอกว่าปลาแม่น้ำโขงถูกจับได้ 4 ล้านตันต่อปี ให้กลางๆ ไว้ที่ 2 ล้านตันต่อปี ใน 2 ล้านตันต่อปี มี 2 พื้นที่ที่มีลักษณะเป็น Floodplain หรือที่ราบลุ่มติดแม่น้ำเหมือนกัน ก็คือ โตนเลสาป ในกัมพูชากับลุ่มน้ำสงครามของเรา”
จากงานวิจัยโดยเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม พบว่าในระบบนิเวศย่อยของลุ่มน้ำสงคราม มีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาถึง 124 ชนิด เช่น ปลาบึก, ปลากระเบนแม่น้ำโขง, ปลาหมากผาง, ปลาซิวแก้ว, ปลาซิวแคระ, ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก, ปลาเอินฝ้าย และปลาข้าวสารแม่น้ำโขง เป็นต้น
ขณะที่จากการเข้าสำรวจของกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ยังพบนกประจำถิ่นและนกอพยพ บางชนิดอยู่ในลักษณะที่ใกล้จะสูญพันธ์ เช่น นกกระสานวล บางชนิดก็เป็นนกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อย่างเช่น นกยอดหญ้าหัวดำ, นกจาบคาหัวสีส้ม, นกกวัก, นกกระติ๊ดขี้หมู และนกแอ่นทุ่งใหญ่ เป็นต้น
มนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวถึงเรื่องนกประจำถิ่นและนกอพยพว่า “สิ่งที่เราไปเจอมันถือว่ามีคุณค่าในทางนิเวศวิทยา ยกตัวอย่างเช่น ที่ขอบๆ ของพื้นที่ห้วยสาป เป็นที่วางไข่ของนกแอ่นทุ่งใหญ่ คือ ผมเดินทางในแม่น้ำโขงก็ไม่เคยเห็นนกชนิดนี้มาก่อน แต่มาเจอที่นี่ ที่น้ำสงครามแห่งนี้ ไป 2-3 ครั้งก็เจอ แล้วก็ยังเคยเจอนกเป็ดน้ำฝูงใหญ่อีกเป็นจำนวนนับ 1,000 ตัว”
จากปี 2562 เป็นต้นมา ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างนับจากปากน้ำไชยบุรีถึงบ้านปากยาม เป็นระยะทาง 92 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 34,381 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซต์ ในลำดับที่ 2,420 ของโลก และเป็นลำดับที่ 15 ของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของลุ่มน้ำสงครามในระดับสากล
ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายวิจัยการบริหารจัดการน้ำ จาก Stockholm Environment Institute กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซต์ว่า “ปัจจุบันแรมซาร์ไซต์คุณค่าของมันลดลงเรื่อยๆ เกือบ 50% ของแรมซาร์ไซต์ทั้งหมด แรมซาร์ไซต์แห่งนี้จึงมีคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมสูงมาก มันเป็นฐานทรัพยากรของชุมชนทั้งในฤดูน้ำท่วม ฤดูน้ำแล้ง นอกจากนี้มันยังช่วยรองรับในเรื่องคุณภาพอากาศโลกได้อีกด้วย แรมซาร์ไซต์ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างมันคือไข่แดง รอบๆ อย่างเช่นแม่น้ำโขงก็มีความผิดปกติเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง ขณะที่น้ำสงครามตอนบน ในจังหวัดสกลนคร ก็มีโครงการพัฒนาเพื่อใช้ในทางเกษตรหรืออื่นๆ เหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ถ้าเปรียบแรมซาร์ไซต์นี้เหมือนมรดก เราก็ต้องอนุรักษ์มรดกนี้ไว้”
Design and development by Soapbox.