สี่ร้อยกิโลเมตรจากกรุงเทพมหานครฯ ณ บ้านวังส้มซ่า จังหวัดพิษณุโลก สมาชิกชุมชนได้ฟื้นฟูส้มพันธุ์ท้องถิ่นอย่าง “ส้มซ่า” อันเป็นที่มาของชื่อชุมชนให้กลับมาปลูกกันอย่างแพร่หลายในชุมชนอีกครั้ง โดยส้มชนิดนี้ได้ชื่อว่า ส้ม “ซ่า” เพราะมีรสเปรี้ยวนำอันเป็นเอกลักษณ์ต่างจากส้มชนิดอื่น
สำหรับบ้านวังส้มซ่า พืชชนิดนี้ได้กลายเป็นหัวใจของความตั้งใจที่จะฟื้นคืนระบบนิเวศท้องถิ่นและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชน การฟื้นฟูพันธุ์ส้มซ่าแสดงให้เห็นความสำเร็จของชุมชนในการบูรณาการหลักคิดเศรษฐกิจชีวภาพสามประการ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และชีวนิเวศ
เมื่อปี 2557 ชุมชนบ้านวังส้มซ่า ซึ่งมีนางเผอิญ พงษ์สีชมพูเป็นผู้นำชุมชน ได้ริเริ่มนำพืชพันธุ์ท้องถิ่นกลับมาปลูกในชุมชน ความพยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้บ้านวังส้มซ่ามีต้นส้มซ่าเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ต้น จากต้นแม่ 1 ต้นในปีแรก
ชุมชนบ้านวังส้มซ่ามีประสบการณ์ในการพัฒนาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพจากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องที่ โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนบนฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจการผลิตและบริการไปพร้อมกับการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
สพภ. มีบทบาทช่วยให้ชุมชนปฏิบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพในทางสุขภาพและคุณภาพ หลังจากที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่นเช่น มะพร้าว ชุมชนบ้านวังส้มซ่าจึงเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส้มซ่า เช่น การใช้น้ำมันจากใบส้มซ่าเพื่อบำรุงและรักษาปัญหาผิวพรรณ ในขั้นตอนนี้ สพภ. ดำเนินการทดสอบคุณภาพ และส่งเสริมให้มีการอบรมเพื่อให้ชุมชนสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและตลาดของผลิตภัณฑ์ของตนได้
ชุมชนบ้านวังส้มซ่าทราบดีว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพียงไม่กี่ชิ้นอาจไม่เพียงพอสำหรับทำให้ธุรกิจสร้างทั้งกำไรและความยั่งยืน ขั้นตอนต่อไปของวิสาหกิจชุมชนจึงเป็นการชักชวนให้สมาชิกชุมชนจำนวนมากขึ้นเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจชีวภาพนี้
สำหรับชุมชนบ้านวังส้มซ่า สามสิ่งที่หัวหน้าชุมชนสรุปบทเรียนว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยให้วิสาหกิจสามารถขยายฐานการสนับสนุนจากชุมชนได้ ได้แก่ (1) การสื่อสารอย่างชัดเจนว่าวิสาหกิจสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพให้คนในชุมชนได้อย่างไร (2) การกำหนดกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ที่รับรองว่าแรงงานจะได้รับผลกำไรและกำไรนั้นนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้น (3) การร่วมมือกับ สพภ.และอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อรับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด
ความสำเร็จของชุมชนบ้านวังส้มซ่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากอุปสรรค การจูงใจสมาชิกชุมชนให้เข้าร่วมวิสาหกิจและการสร้างความเชื่อมั่นเป็นความท้าทายที่ผู้นำชุมชนเจอ อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจสร้างฐานผู้สนับสนุนได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นผ่านการทำงานร่วมกันทั้งชุมชน การสื่อสารถึงผลประโยชน์ที่อาจได้รับจากการเป็นสมาชิกวิสาหกิจ และถือผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหลักในต้นแบบธุรกิจ วิสาหกิจยังสื่อสารเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเสริมสร้างศักยภาพให้กับสมาชิกผ่านการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการ และองค์กรอื่นๆ
ความสำเร็จของเราเกิดจากว่าเราทำทุกอย่างครบวงจร ก็คือ จากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำก็คือเราปลูกเอง ดูแลเองโดยได้รับการสนับสนุนจากเกษตรจังหวัด มาดูว่าเราจะปลูกอย่างไรให้ออกดอกออกผลนอกฤดูกาลได้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือเราผลิตเอง เรามีโรงงานผลิตที่ถูกต้อง และเราก็ขายเอง เพราะฉะนั้นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เรามีครบถ้วนทุกอย่าง …คุณภาพของเราก็ดี และอีกอย่างคือ มันทำให้ชุมชนมีรายได้ เราสามารถเป็นต้นแบบและตัวอย่างให้กับชุมชนที่เขามาศึกษาดูงาน ดูการบริหารจัดการของเราว่า เมื่อนำต้นแบบของบ้านวังส้มซ่าไปประยุกต์ใช้ในชุมชนของเขาแล้ว เขาสามารถที่จะไปต่อได้ไหม
นางเผอิญ พงษ์สีชมพู ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า
แนวคิดการสร้างเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพของชุมชนบ้านวังส้มซ่าได้ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้และอาชีพให้กับสมาชิกชุมชน การดำเนินวิสาหกิจนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และผู้รู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยพลิกโฉมชุมชนสู่การดำเนินการในแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว
โครงการวิจัยแนวทางการอภิบาลเศรษฐกิจชีวภาพโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อกโฮล์มร่วมมือกับ สพภ. เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในเศรษฐกิจชีวภาพของไทยผ่านการศึกษาความสำเร็จของการดำเนินงานของ สพภ. โดยคณะวิจัยของสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อกโฮล์มได้เดินทางไปยังจังหวัดพิษณุโลกเพื่อร่วมดูงานและจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับชุมชนบ้านวังส้มซ่า
คณะวิจัยของสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อกโฮล์มดำเนินการวิจัยแบบสหวิทยาการผ่านกรณีศึกษาประเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกาเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ โดยมีจุดประสงค์ทำความเข้าใจว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพสามารถนำไปสู่และได้นำไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างไรบ้างในแต่ละภูมิภาคของโลก และเพื่อฉายภาพกลไกทางสถาบันและการอภิบาลที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก
แปลโดย เบ็ญจลักษณ์ เด่นดวง
Design and development by Soapbox.